เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน รับมือยังไงดี?

เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน รับมือยังไงดี?

Wendays Team

1 minute read

PMS หรือ Premenstrual Syndrome เป็นอาการที่ผู้หญิงหลายคนมักจะเผชิญช่วงก่อนที่ประจำเดือนจะมา 5 – 10 โดยประมาณ ในระหว่างนั้นก็มักจะมีความรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบาย ในบางรายอาจมอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกหิวตลอดเวลา ส่งผลให้มีอาการหงุดหงิดมากกว่าปกติ หรือ อาการ “เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน” นั่นเอง ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้น หลังจากประจำเดือนมา 4 – 7 วันแล้ว

อาการ PMS เหล่านี้ ถึงจะเป็นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็สามารถทำให้ผู้หญิงรู้สึกหมดแรงไปทั้งวันได้เลยทีเดียว ดังนั้น วันนี้พวกเราจะมานำเสนอทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการรับมือกับอาการ PMS ที่น่าหงุดหงิดเหล่านี้กันนะคะ!

  • ออกกำลังกาย 

การออกแรงใช้เหงื่อ คือวิธีสุดเบสิคในการรับมือกับอาการ PMS เลย แต่แน่นอนว่าด้วยยุคสมัยที่ผู้หญิงหลายคน ไม่สะดวก ก็สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ได้ เช่น การทำโยคะ (สามารถกดดู ท่าโยคะ ได้ที่นี่เลย!)  การบริหารร่างกายเบา ๆ เดินเล่น เป็นต้น ซึ่งการออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมากขึ้น ไม่อ่อนล้า ลดอาการปวดเมื่อยตามตัว

  • ประคบอุ่น

การประคบอุ่นสามารถทำได้ด้วยการนำถุงน้ำร้อน กระเป๋าน้ำร้อนไฟฟ้า หรือแผ่นแปะประคบร้อน มาประคบท้องน้อย หรือจะประคบในจุดที่รู้สึกปวดเมื่อยก็ได้เช่นกัน ความร้อนจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เรารู้สึกสบายตัวมากขึ้น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยปกติ มนุษย์ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ต่างก็มีการเสียน้ำในร่างกายอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อออก และผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือน ก็จะยิ่งเสียน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้นจากปกติ ดังนั้น ในช่วงก่อนและช่วงมีประจำเดือน ก็ควรที่จะมีการดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคน อาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือมีอาการท้องเสียในช่วง PMS การดื่มน้ำที่เพียงพอจะสามารถช่วยไม่ให้มีอาการท้องอืด และไม่ให้ขาดน้ำจากอาการท้องเสียได้

  • พักผ่อน

ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ถึงแม้จะไม่ได้มีประจำเดือน ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ! ) เพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวัน

โดยก่อนนอน ก็สามารถนั่งทำสมาธิ ทำจิตใจให้โล่ง เพื่อให้หลับสบายมากขึ้น หากรู้สึกปวดตัว หรือปวดท้องน้อย ก็สามารถลองประคบร้อน หรือจุดเทียนหอมเพื่อผ่อนคลายก่อนที่จะนอนเพื่อให้หลับสบายขึ้น 

  • หาเวลาสำหรับการผ่อนคลาย

การมาสก์หน้า การนวด หรือแม้แต่การทำสมาธิ ต่างก็ช่วยทำให้เราผ่อนคลายลงได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ หากมีอาการเครียด อย่าลืมหาเวลาดูแลตัวเอง เช่น หาแผ่นมาสก์หน้ามาแช่เย็นทิ้งไว้ และนำมาแปะไว้บนใบหน้าก่อนนอน การมาสก์หน้าเย็น ๆ จะทำให้เราผ่อนคลาย และในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการรักษาบรรเทาสิวที่จะขึ้นในช่วง PMS ด้วย

  • กินวิตามิน หรือแมกนีเซียม 

ผู้หญิงจะมีการเสียเลือดจากประจำเดือน ดังนั้นควรจะมีการกินวิตามินในการทดแทน เช่น ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียม ซึ่งแมกนีเซียมสามารถช่วยลดอาการเครียด และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งแมกนีเซียม สามารถหาได้จากอาหารที่เรากินทั่วไป เช่น ผักใบเขียว ถั่ว กล้วย อโวคาโด และ (ของโปรดของใครหลายคน) แซลม่อน

  • หาผู้เชี่ยวชาญ

ในกรณีที่อาการเหล่านี้ อาจมีมากผิดปกติจนส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น ปวดตัวมาก เจ็บหน้าอกในระดับรุนแรง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากอาการ Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD ก็ควรที่จะไปพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของอาการต่อไป

ในช่วงนี้ การมีอาการ เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือน เป็นเรื่องที่ปกติ แต่ทว่าก็สามารถสร้างความหงุดหงิดรำคาญให้กับเราได้ ดังนั้น ทริคเหล่านี้จะเป็นทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หวังว่าจะช่วยทำให้ผู้หญิงอย่างเราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมั่นใจมากขึ้น แม้จะมีประจำเดือนค่ะ 🙂

References 
https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Article/Details/สุขภาพสตรี/-PMS–กับกับอาการเหวี่ยงวีนของสาวๆ-ก่อนมีประจำเดือน
https://blog.mylola.com/menstrual-health/how-to-deal-with-pms/

SHARE